ในโพสท์นี้ผมจะกล่าวถึง Chord Progression แบบต่างๆที่ผมชอบและมักจะเอามาใช้เป็นแนวหลักในการแต่งเพลงหรืออิมโพรไวซ์นะครับ
ถ้าพูดถึงเรื่องการแต่งเพลง คนทั่วๆไปอาจจะนึกถึงการแต่งเนื้อร้อง แต่สิ่งที่เราควรจะทำก่อนก็คือการวางคอร์ด เพื่อเป็นตัวกำหนดธีมของเพลง แล้วสิ่งอื่นๆอย่างเมโลดี้ และเนื้อร้องก็จะตามมาเองครับ
อันที่จริงการแต่งเพลงเป็นอาชีพทั่วๆไปนี่ส่วนใหญ่เค้าจะแต่งแยกกันระหว่างเนื้อร้องกับดนตรีนะครับ บางทีก็ใช้คนละคนกันเลยเพราะบางทีคนที่แต่งดนตรีเก่งๆอาจจะกากเรื่องการแต่งเนื้อก็เป็นได้ (เช่นผม)
ที่นี้การจะวางคอร์ดนั้นไม่ใช่ว่าเล่นคอร์ดไหนเป็นก็จับยัดๆใส่ไปเลยนะครับ เราต้องรู้หลักการใน ‘การเดิน’ ของคอร์ด หรือ Chord Progression อธิบายคร่าวๆก็คือ การที่คอร์ดแต่ละคอร์ดจะมาเรียงต่อกันได้นั้นต้องมีความสัมพันธ์กัน เรียกว่า Root Relationship เหมือนกับการแต่งประโยคน่ะครับ ในภาษาดนตรีก็มีหลักการของมันในการที่คำ (คอร์ด) ต่างๆจะมาต่อกันได้ต้องมีลำดับก่อนหลังยังไง คอร์ดไหนไม่ควรมาต่อกัน คอร์ดไหนควรจะต่อจากคอร์ดนี้เป็นต้นครับ
สรุปก็คือ Chord Progression จะทำให้เราสามารถคิดลำดับคอร์ดได้และเป็นลำดับคอร์ดที่ฟังแล้ว ‘เหมาะสม’ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการแต่งเพลง และการอิมโพรไวซ์ครับ ไว้ผมจะกล่าวถึงเรื่องนี้ อย่างละเอียดในโอกาสต่อๆไปนะครับ
ในที่นี้เรียงลำดับโดยไม่ได้อิงจากอะไรเลยนะครับ และผมจะเขียนเป็นคอร์ดในคีย์ C Major เป็นหลัก เพื่อจะได้สะดวกต่อการนำไป Transpose ครับ สำหรับเพลงตัวอย่าง หากใครรู้จักเพลงอะไรอีกที่มีคอร์ดแบบนี้ก็แนะนำกันมาได้นะครับ (โดยเฉพาะเพลงไทย)
1. Am – F – C – G
คอร์ดแบบนี้แทบจะถูกใช้มากที่สุดในเพลงสากลเลยก็ได้ มันจะให้อารมณ์ดรามาติค จากคอร์ดในคีย์ minor คอร์ดแรกให้ความรู้สึกเศร้า หม่นหมอง แล้วไต่กลับมาเป็นคีย์ major ในคอร์ดที่สามเป็นเหมือนความสุข แล้วก็สลับกลับมาเป็น minor คอร์ดแบบนี้จะเหมาะกับพวกเพลงอกหักแต่ก็ยังรักเค้า หรือฉันผิดเสมอใช่มั้ย อะไรทำนองนั้น
เราสามารถเพิ่มความสมูทของเพลงได้โดยเพิ่มโน้ตเข้าไปเป็น Am – F6 – C – G แล้วดันให้โน็ตที่ไล่กันคือ C – D – E – D ขึ้นไปอยู่บนสุด (ฟังตัวอย่างใน OneRepublic – Apologize)
ตัวอย่างเพลงดังๆที่ใช้คอร์ดนี้ก็เช่น Eminem – Love the way you lie, Bruno Mars – Grenade (ท่อนฮุค), Avicii – Wake me up
เรายังสามารถเปลี่ยนคอร์ดสุดท้ายเป็น Em เพื่อเพิ่มโทนหม่นๆให้กับเพลงได้อีกด้วย (เช่นใน Christina Perri – Jar of hearts)
2. Am – C – G – D
คอร์ดชุดนี้ใช้ Dorian Mode เข้ามาช่วย สังเกตจากตัว F# ในคอร์ด D เริ่มด้วยคีย์ minor ทำให้มีฟีลลิ่งเหมือนกับกำลังหดหู่ แต่ก็ยังมีความหวังอยู่รำไร ฟังๆแล้วให้อารมณ์ epic แบบแฟนตาซีนิดๆครับ
ตัวอย่างเช่น Imagine Dragon – Radioactive
การใช้คอร์ดแบบ Am – D นี้จะพบบ่อยมากทั้งในเพลงไทยและสากล เราจะใช้คอร์ด D (major) มาหยุด Am ครับบางทีก็เล่นสองคอร์ดนี้สลับกันไปมายังได้เลย อย่างในเพลง Thriller ของ Michael Jackson ลองไปใช้ดูได้นะครับ เพลงจะมีสีสันไปอีกแบบ
3. C – G – Am – F
อีกหนึ่งเซ็ทที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เหมือนเป็นคอร์ดเบื้องต้นที่ดูธรรมดาแต่ก็ทำให้เพราะได้ง่ายๆ เรายังสามารถเดินเบสแบบถอยหลังได้อีกด้วย C – G/B – Am – F
เป็นคอร์ดที่ถูกใช้เยอะมาก จนมีคนเอาเพลงต่างๆที่ใช้คอร์ดนี้มารวมกันได้สุดยอดมากๆครับ ตัวอย่างเพลงก็เช่น Adele – Someone Like You, Carry Rae Jepsen – Call me maybe, Taylor Swift – You belong with me
สังเกตว่าเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงตลาดหรือป๊อบทั่วๆไป เพราะเป็นคอร์ดที่ไม่ซับซ้อนและฟังง่ายติดหูครับ
4. C – Bb
การใช้ Mixolydian Mode จะให้ความรู้สึกออกแนวร็อคๆ หรืออกไปทางแฟนตาซีก็ยังได้ โดยทั่วไปคอร์ดที่ตามมาจะเป็น F เพราะโน้ต Bb จะ resolve ลงครึ่งเสียงเสมอ พูดง่ายๆเหมือนเราเปลี่ยนจาก C7 (resolve เป็น F ตาม rules of fifth) เป็น Bb นั่นเอง
ตัวอย่างคอร์ด ในเพลง Royals ของ Lorde จะใช้คอร์ด Bb เยอะมาก ทำให้เพลงมีอารมณ์ยึกๆ (บอกไม่ถูก 55) เช่นในท่อน pre-chorus เป็น C – C – Bb – F หรือในท่อนฮุค C – Bb – G – F (ไล่โน้ตลง C – Bb – B – A)
ตัวอย่างอื่นๆ เช่น Disney – Part of that world, Lady Gaga – Born this way
5. C – G/B – Am – Em – F – C/E – F – G
หลายๆคนคงจะรู้ว่ามันคือคอร์ดพลง Canon ของ Pachelbel นั่นเอง สาเหตที่ทำให้ Chord Progression นี่ลื่นไหล ก็เพราะตัวเบสที่เดินลงมาเรื่อยๆนั่นเอง ส่วนใหญ่คอร์ดแบบนี้จะเอาไปใช้เป็นท่อนฮุคที่ยาวๆ เพื่อให้รู้สึกถึงความต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆครับ
ตัวอย่างเช่น Christina Perry – A thousand years, Pause – รักเธอทั้งหมดของหัวใจ, บอย โกสิยพงษ์ – สักวันหนึ่ง (แต่ในเพลงนี้ใช้ Em เป็นคอร์ดที่สองแทน)
6. F – G – C – Am
การขึ้นด้วยคอร์ดที่ไม่ใช้ tonic (คอร์ดแรกของคีย์) แต่เป็นคอร์ด F ทำให้ได้อารมณ์ที่แตกต่างออกไป เหมือนเป็นการเล่าเรื่องต่อมาจากครั้งที่แล้ว และลงเอยในที่สุด
ตัวอย่าง Cold Play – Viva la vida, Backstreet Boys – I want it that way (F – G – Am), The Script – Breakeven (F – C – G – Am)
7. C – F – G – C
คอร์ดแบบ I – IV จะเป้นการเดินคอร์ดย้อนกลับ rules of fifth และนอกจากนี้การเติม F แทรกไประหว่าง C – G เป้นการขัดที่ทำให้ฟังลื่นขึ้น (งง) เหมือนกับเราเติมตัวเชื่อมเข้าไปก่อนจะส่งเข้าอีกคอร์ด ซึ่งคอร์ดแบบนี้จะใช้กันเยอะในเพลงยุคคลาสสิคครับ แต่ในเพลงป๊อบทั่วไปก็ใช้กันเยอะเหมือนกัน เช่น One Direction – What makes you beautiful, Fun – Carry on, Disney – Kiss the girl (C – F – C – G)
http://www.hooktheory.com/trends
เราสามารถเข้าไปในเว็บไซต์นี้เพื่อดู Chord Progression ต่างๆได้ โดยเค้าจะบอกเปอร์เซ็นต์มาว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้วคอร์ดต่อไปมักจะเป็นคอร์ดอะไรครับ ซึ่งอิงจากเพลงส่วนใหญ่ทั่วโลก ลองเข้าไปเล่นกันดูได้ครับ
สุดท้ายนี้ก็ขอฝากเนื้อฝากตัวทุกคนด้วยนะครับ ครั้งนี้เป้นครั้งแรกถ้าทำอะไรผิดพลาดไปก็ขออภัยด้วย และฝากติดตามและเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ หากมีอะไรก็คอมเมนต์ถามหรือติดต่อมาได้เลยนะครับ
สวัสดีครับ 🙂